สำหรับคนที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือ Pacemaker อาจมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผลจากการใช้เครื่อง AED ว่าจะสามารถใช้งานร่วมกันได้หรือไม่ คำตอบคือสามารถใช้เครื่อง AED ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามปกติ และสามารถช่วยชีวิตคนที่ฝังเครื่อง Pacemaker ที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญคือ ควรติดแผ่นอิเล็กโทรด ให้ห่างจากเครื่อง Pacemaker อย่างน้อยหนึ่งฝ่ามือ นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการติดแผ่นอิเล็กโทรดทับโดยตรง จากนั้นให้ปฏิบัติตามคำสั่งเสียงของเครื่อง AED หรือ เครื่องกระตุกหัวใจได้ตามปกติ
ทำความเข้าใจเครื่อง Pacemaker คืออะไร?
เครื่อง Pacemaker คือ เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังโดยปกติจะอยู่บริเวณหน้าอก เพื่อช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ ประกอบด้วยแบตเตอรี่ วงจรคอมพิวเตอร์ และสายไฟ (ตัวนำ) อย่างน้อยหนึ่งเส้นที่จะร้อยผ่านเส้นเลือดดำเข้าสู่หัวใจ เครื่อง Pacemaker จะตรวจสอบการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่องและส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อช่วยให้หัวใจเต้นอย่างสม่ำเสมอด้วยความเร็วที่เหมาะสม
เครื่องกระตุ้นหัวใจนี้มักใช้เพื่อรักษาผู้ที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เหนื่อยล้า วิงเวียนศีรษะ และเป็นลมหมดสติได้ เครื่องทำงานด้วยการเข้าไปลดอาการและเพิ่มความสามารถของหัวใจในการสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มักใช้ในผู้สูงอายุ หรือในผู้ที่มีอายุน้อยที่เป็นโรคหัวใจก็ได้เช่นกัน
เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ ICD คืออะไร?
ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง Pacemaker หรือ ICD ต่างก็เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่ทั้งสองมีหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้
- เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือ Pacemaker เป็นอุปกรณ์ที่ส่งแรงกระตุ้นไฟฟ้าไปยังกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยทั่วไปจะใช้เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรืออาการอื่น ๆ ที่ทำให้หัวใจเต้นช้าเกินไป เครื่องกระตุ้นหัวใจจะมีสายสัญญาณร้อยผ่านเส้นเลือดดำเข้าสู่หัวใจ เพื่อตรวจสอบและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
- เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ ICD (Implantable Cardioverter Defibrillator) เป็นอุปกรณ์ที่ติดตามจังหวะการเต้นของหัวใจ จะทำการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังหัวใจทันทีในกรณีที่เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติหรือหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว โดยทั่วไปแล้ว ICD จะใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เนื่องจากหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือภาวะหัวใจอื่นๆ
จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยฝัง Pacemaker
การสังเกตหรือมองหาว่าบุคคลนั้นมีเครื่อง Pacemaker ฝังอยู่ จะต้องทำโดยเร็วที่สุด เพื่อการใช้เครื่อง AED ในการช่วยชีวิตในขั้นต่อไป อาจทำได้โดยการ
- ถามจากผู้ป่วยโดยตรง หากผู้ป่วยฝังเครื่อง Pacemaker และสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ได้
- มองหาสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอแจ้งเตือนทางการแพทย์ ผู้ป่วยบางรายอาจสวมสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอแจ้งเตือนทางการแพทย์ที่ระบุว่ามีเครื่องกระตุ้นหัวใจหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ ฝังอยู่
- สามารถใช้แม่เหล็กเพื่อตรวจจับการมีอยู่ของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
สรุป สามารถใช้เครื่อง AED กับผู้ป่วยที่ฝัง Pacemaker ได้หรือไม่?
สามารถใช้เครื่อง AED กับผู้ป่วยที่ฝัง Pacemaker ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ควรติดแผ่นอิเล็กโทรด ให้ห่างจากเครื่องกระตุ้นหัวใจและสายไฟอย่างน้อยหนึ่งฝ่ามือ ด้วยวิธีการสังเกตหรือสอบถามจากผู้ป่วยโดยตรงที่เราแนะนำไปข้างต้น นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการติดแผ่นอิเล็กโทรด ทับ Pacemaker
เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินตอนไหน นอกจากให้ความสำคัญกับการเพิ่มความรู้เรื่อง
การช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นแล้ว หากมีอุปกรณ์เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ (AED) เข้ามาใช้งานร่วมด้วย อย่างเช่น เครื่อง AED Defibtech ที่ใช้งานง่ายและเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมของแอลโคเทค ก็จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตผู้อื่นในเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น