หากคุณเคยไปเดินเขา เดินป่า หรืออยู่บนตึกสูง ๆ แล้วรู้สึกหายใจลำบาก มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน หรือหัวใจเต้นถี่เร็วผิดปกติ รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือภาวะพร่องออกซิเจนจากการมีออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นภาวะไม่แสดงอาการ ที่หากปล่อยไว้โดยไม่หาแนวทางป้องกันก็อาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้เลย ดังนั้นในบทความนี้ Alcotec จะพาคุณมาทำความรู้จักกับภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำอย่างละเอียด เพื่อให้คุณสามารถสังเกตอาการ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ขึ้นกับคนในครอบครัว
ภาวะพร่องออกซิเจน คืออะไร
ภาวะพร่องออกซิเจนจากการมีออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ เกิดจากร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ (Hypoxemia) จนทำให้เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทำให้การทำงานของระบบร่างกายและสมองบกพร่อง และแสดงอาการผิดปกติออกมา เช่น ผิวหนังเขียวซีด เหงื่อออกมาก หายใจผิดปกติ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น
สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจน
1. ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ที่เกิดจากร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย (Hypoxic Hypoxia)
- ความกดดันของออกซิเจนในถุงลมปอดลดลง มักเกิดจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูง เนื่องจากความกดอากาศลดลง จนทำให้ออกซิเจนเบาบางลง
- พื้นที่ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างปอดกับกระแสเลือดลดลง มักเกิดในผู้ที่มีอาการปอดแฟบ มีลมในช่องปอด เป็นต้น
- ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านจากถุงลมปอดไปสู่กระแสเลือดได้สะดวก มักเกิดในผู้ที่มีอาการปอดบวม จมน้ำ เป็นต้น
2. ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งมีสาเหตุจากเลือด (Hypemic Hypoxia)
มีสาเหตุจากความบกพร่องในการนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โรคโลหิตจาง เกิดการเสียเลือดมาก ร่างกายได้รับยา สารพิษ หรือยาเสพติดบางอย่าง ความผิดปกติของเฮโมโกลบิน เป็นต้น
3. ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของกระแสเลือด (Stagnant Hypoxia)
มีสาเหตุจากความบกพร่องในการไหลเวียนของเลือด เช่น แรงดันเลือดจากหัวใจลดลง จากการเป็นโรคหัวใจล้มเหลว
4. ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเป็นพิษของเซลล์ (Histotoxic Hypoxia)
มีสาเหตุจากการได้รับสารพิษ เช่น แอลกอฮอล์ ควันพิษ ไซยาไนต์ เป็นต้น ที่ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้ โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- Mild Hypoxemia ระดับออกซิเจนในเลือดอยู่ระหว่าง 60-80 มิลลิเมตรปรอท
- Moderate Hypoxemia ระดับออกซิเจนในเลือดอยู่ระหว่าง 40-60 มิลลิเมตรปรอท
- Severe Hypoxemia ระดับออกซิเจนในเลือด น้อยกว่า 40 มิลลิเมตรปรอท
เช็กสัญญาณเสี่ยงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ
อาการและความรุนแรงของภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น สถานที่ ระยะเวลา อายุ โรคประจำตัว เป็นต้น โดยอาการที่บ่งบอกถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ มีดังนี้
- ผิวหนังซีด หรือเป็นสีเขียวคล้ำ
- คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- วิงเวียนหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- มีเหงื่อออกมาก รู้สึกวูบวาบตามตัว ร้อน ๆ หนาว ๆ มือเท้าชา
- หายใจลำบาก
- รู้สึกกระสับกระส่าย
- ตาพร่ามัว มึนงง
- การรู้สึกตัวลดลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก และหากปล่อยไว้ก็อาจเกิดอาการเพ้อ ชัก หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเข้าสู่ภาวะโคม่า และอาจเสียชีวิตได้
และนอกจากอาการข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่เราสามารถตรวจสอบได้โดยการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจนในเลือด หากพบว่ามีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำกว่า 90% ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที
วิธีป้องกัน ภาวะพร่องออกซิเจน
- นอนหนุนหมอนสูง เพื่อให้กระบังลมเคลื่อนต่ำลง ปอดขยายตัวได้เต็มที่
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือการรับควันบุหรี่
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรหมั่นตรวจระดับออกซิเจนในเลือดด้วยเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดเป็นประจำ
- ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการอยู่บนที่สูงมาก ๆ หรือพื้นที่ที่อากาศเบาบางเป็นเวลานาน
สรุปบทความ
แม้ว่าภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ จะมีอาการคล้ายคลึงกับการเป็นลมหมดสติ แต่ภาวะนี้กลับมีความรุนแรงมากกว่า และสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อได้ทราบถึงสาเหตุการเกิด อาการที่บ่งบอกถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และวิธีป้องกันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเหล่านี้ขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ