อาการหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เป็นอาการของโรคหัวใจที่สามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา และมักจะเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล ทำให้ระยะเวลาในกู้ชีพให้กลับมามีน้อยมาก และถึงแม้ว่าตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ฟิตเนส ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า เป็นต้น จะมีเครื่องกระตุกหัวใจ AED หรือเครื่อง AED อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่หากไม่มีคนที่รู้วิธีใช้งานอยู่ในบริเวณนั้น ก็จะไม่สามารถใช้งานเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ในบทความนี้ Alcotec จะพาคุณมาเรียนรู้วิธีใช้งาน พร้อมแนะนำข้อควรรู้เกี่ยวกับเครื่องกระตุกหัวใจ AED ให้คุณได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยต่อไป
5 ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับเครื่องกระตุกหัวใจ AED
ในปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นเครื่องกระตุกหัวใจ AED แต่เชื่อว่าคงจะมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า เครื่องนี้สามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง แล้วต้องใช้งานอย่างไร รวมถึงอาจจะมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเครื่องนี้อยู่บ้าง ดังนั้น Alcotec จะมาเล่า 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเครื่องกระตุกหัวใจ AED ให้คุณได้ทราบกัน
1. AED ไม่สามารถทำให้ใครเสียชีวิตจากการใช้เครื่องได้
ในปัจจุบันยังไม่มีการบันทึกกรณีของบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ AED เนื่องจาก ทุกครั้งที่มีการใช้งาน เครื่องกระตุกหัวใจ AED จะทำการวิเคราะห์คลื่นหัวใจผู้ป่วย และเมื่อเครื่องสั่งให้ช็อก นั่นแปลว่า คลื่นหัวใจของผู้ป่วยเต้นผิดปกติ หรือทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตไปแล้ว เพราะหัวใจไม่ปั๊มเลือด แต่ยังมีโอกาสรอดได้หากใช้เครื่อง AED ช่วยได้ทัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น
2. AED ต้องกดปุ่มช็อกเมื่อไฟกระพริบ
หลังจากที่เครื่องวิเคราะห์คลื่นหัวใจของผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นว่าจะได้กดปุ่ม SHOCK ทุกครั้ง แต่ให้กดก็ต่อเมื่อเครื่องสั่งให้กด หรือมีไฟกะพริบเท่านั้น เพราะหากกดปุ่มโดยที่เครื่องไม่สั่ง ก็จะไม่มีกระแสไฟฟ้าออกมาแต่อย่างใด
3. ไม่ต้อง Recharge Battery
แบตเตอรี่ของเครื่องกระตุกหัวใจ AED ที่ใช้ตามที่สาธารณะ ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในระยะยาว พร้อมระบุจำนวนการช็อก และชั่วโมงการใช้งานไว้อย่างชัดเจน หากเมื่อใช้งานครบตามจำนวนช็อก หรือครบตามชั่วโมงที่ระบุไว้ หรือวาง Standby ครบตามกำหนดเวลา จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ก้อนใหม่ทันที
4. AED มีการบันทึกผลการช่วยชีวิตทุกครั้ง
เครื่องกระตุกหัวใจ AED มีระบบบันทึกข้อมูลการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยจะบันทึกข้อมูลคลื่นหัวใจ, จำนวนการช็อก และระยะเวลาการช่วยชีวิตเอาไว้ในตัวเครื่อง และเมื่อแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยกู้ภัยมาถึงก็จะสามารถดึงข้อมูลดังกล่าวออกมา และส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย
5. AED ไม่จำเป็นต้องส่งเครื่องมาตรวจสอบทุกปี
เครื่องกระตุกหัวใจ AED เป็นเครื่องมือที่มีระบบทดสอบตัวเอง (Self Test) ซึ่งจะทำหน้าที่ทดสอบอุปกรณ์, ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ , แผงวงจรไฟฟ้า หรือการทดสอบพลังงาน และแจ้งความพร้อมของตัวเครื่องด้วยไฟสถานะ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็น จะต้องเข้ามาตรวจสอบทุกปี
ขั้นตอนการช่วยเหลือโดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจ AED
สำหรับผู้ที่เกิดอาการหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในช่วงเวลา 3-5 นาทีแรกถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการ กู้ชีพ ดังนั้นผู้ที่พบเห็นเป็นคนแรก จึงเป็นคนที่สำคัญที่สุด และต้องตระหนักว่าต้องรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือในทันที โดยขั้นตอนการช่วยเหลือโดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจ AED มีดังนี้
- เรียกและทดสอบความรู้สึกตัวของผู้ป่วย พร้อมจัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง
- เรียกขอความช่วยเหลือหรือโทรแจ้ง 1669 พร้อมนำเครื่อง AED ออกมาเตรียมไว้
- ประเมินผู้ที่หมดสติ หากไม่รู้ตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้เริ่มต้นทำการช่วยคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือ CPR ในทันที
- เปิดใช้งานเครื่อง AED และถอดเสื้อของผู้หมดสติออก
- ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย เมื่อติดเรียบร้อยแล้วให้งดสัมผัส ตัวผู้ป่วย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED เมื่อเครื่องสั่งช็อก ต้องมองให้แน่ใจว่า ไม่มีใครสัมผัสถูกตัวของผู้ป่วย พร้อมแจ้งว่า “คุณถอย ผมถอย และทุกคนถอย” ก่อนกดปุ่มช็อก
- หลังทำการช็อกไฟฟ้าหัวใจด้วยเครื่อง AED ให้กลับมาทำการ CPR ต่อเนื่อง 2 นาทีในทันที
- ส่งต่อผู้ป่วยเมื่อทีมกู้ชีพมาถึง
สรุปบทความ
สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกเมื่อพบผู้ป่วยหมดสติคือการโทรแจ้ง 1669 หรือสายด่วนของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ หรือกู้ภัย และในระหว่างที่รอจึงทำการช่วยเหลือผู้หมดสติด้วยเครื่องกระตุกหัวใจ AED ทั้งนี้ สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ใน การใช้งานเครื่อง AED ก็อาจจะใช้การช่วยคืนชีพพื้นฐานหรือ CPR เพื่อแก้ไขความผิดปกติของทางเดินหายใจและ การหายใจ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้น