ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้น เป็นภาวะที่อันตราย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลให้สมองเกิดความเสียหาย และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเรียนรู้วิธีทำ CPR และการใช้เครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
การใช้เครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “เครื่อง AED” เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ออกมาเพื่อช่วยยื้อชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมถึงผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก แล้วตามมาด้วยการหมดสติ หรือได้รับอุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อตจนหมดสติได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR อย่างต่อเนื่อง นับเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกพื้นที่ควรมีติดตั้งไว้
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อพบคนหมดสติ
หากคุณพบเจอคนหมดสติ ควรตั้งสติให้ดี และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- จัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบบนพื้นแข็ง
- ลองเรียกด้วยเสียงดัง หรือตบไหล่ทั้งสองข้างเพื่อดูว่ามีการตอบสนองหรือไม่
- ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตดูว่ามีอาการกระตุก ชักเกร็ง หายใจเฮือก หรือหยุดหายใจหรือเปล่า ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า เป็นภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- เรียกขอความช่วยเหลือ หรือโทรแจ้ง 1669 พร้อมนำเครื่อง AED มาเตรียมไว้ (กรณีที่มีเครื่อง)
- ในระหว่างที่รอกู้ภัย หรือรถโรงพยาบาล ให้ทำการ CPR ร่วมกับใช้เครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยทันที
วิธีใช้เครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย
วิธีใช้เครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีขั้นตอนดังนี้
- ทำการ CPR ในระหว่างที่รอเครื่อง AED มาถึง
- เมื่อเครื่อง AED มาถึงแล้ว ให้เปิดเครื่อง AED และทำตามคำสั่งของเครื่อง
- โดยใช้ผ้าขนหนูที่อยู่ในเครื่องเช็ดผิวหนังให้แห้งสนิท และลอกแผ่นกาวแผ่นนำไฟฟ้า (Electrode) ออก แล้วนำแผ่นแรกติดที่บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และแผ่นที่สองที่บริเวณใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัว โดยสามารถดูคำแนะนำจากภาพประกอบที่อยู่ในเครื่องได้
- เครื่อง AED จะสั่งให้ทุกคนห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย และเริ่มทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- หากพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยเป็นชนิดที่ต้องทำการรักษา เครื่องจะสั่งให้ทำการช็อกไฟฟ้า โดยให้ถอยห่างจากผู้ป่วย พร้อมบอกว่า “ฉันถอย คุณถอย ทุกคนถอย” เมื่อมั่นใจแล้วว่าไม่มีใครสัมผัสผู้ป่วย ให้กดปุ่ม Shock ทันที
- เมื่อช็อกไฟฟ้าเสร็จ เครื่องจะแจ้งว่า “ผู้ป่วยได้รับการช็อกไฟฟ้าหัวใจแล้ว” ให้เริ่มทำ CPR โดยการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าลมเข้าปอด 2 ครั้ง ต่อเนื่องไปทันที
วิธีการทำ CPR เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยในกรณีที่ไม่มีเครื่อง AED
ในกรณีที่ไม่เครื่อง AED ให้โทรแจ้ง 1669 แล้วทำ CPR จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง โดยมีขั้นตอนดังนี้
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย โดยผู้ช่วยเหลือจะต้องนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย
- วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างหนึ่งทับประสานกันไว้
- แขนสองข้างเหยียดตรง แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย
- เริ่มกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที
- ถ้ามีหน้ากากเป่าปาก ให้เป่า 2 ครั้ง สลับกับการกดหน้าอก 30 ครั้ง แต่ถ้าไม่มี หรือไม่เคยฝึกเป่าปาก ให้กดหน้าอกเพียงอย่างเดียว
- ทำ CPR อย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง
ถ้าหากคุณมีคนช่วยเหลืออยู่ข้าง ๆ ให้เขาดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AED กระตุกหัวใจ เพื่อค้นหาเครื่อง AED ในประเทศไทย และอาสาสมัครผู้ทำ CPR ที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือดูวิธีการใช้งานเครื่อง AED และวิธีทำ CPR อย่างละเอียดได้เลย โดยดาวน์โหลดได้ที่ https://aed.redcross.or.th/ รองรับทั้งระบบ Android และ iOS
สรุปความสำคัญในการติดตั้งเครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ การติดตั้งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือเครื่อง AED ไว้ในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเครื่อง AED เป็นอุปกรณ์สำคัญที่สามารถช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยจากภาวะนี้ได้
ส่วนจำนวนเครื่อง AED ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่นั้น ควรมีมากกว่า 1 เครื่องขึ้นไป และติดตั้งอยู่ในจุดที่สังเกตง่าย เพื่อให้สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะยิ่งคุณช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการทำ CPR หรือเครื่อง AED เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้นเท่านั้น!
หากองค์กร หน่วยงาน หรือเจ้าของสถานที่ใด ต้องการสั่งซื้อเครื่อง AED คุณภาพสูง มีระบบการทำงานที่ทันสมัย ง่ายต่อการใช้งาน สามารถเลือกดูรายละเอียดได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ Alcotec หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-862-0254 , 02-862-0959 และทาง E-Mail: customersupport@alco-tec.co.th ได้เลย เรามีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด