CPR เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ช่วยฟื้นคืนชีพการเต้นของหัวใจ มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่แห่งการอยู่รอด หรือ Chain of Survival และอยู่ในขั้นตอนที่สองของห่วงโซ่ เป็นขั้นตอนสำคัญในการช่วยสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย เพื่อคืนออกซิเจนไปยังสมองและอวัยวะสำคัญส่วนอื่น ๆ หากไม่มีการทำ CPR อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ สมองอาจได้รับความเสียหายอย่างถาวรภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่หัวใจหยุดเต้น ซึ่งนำไปสู่ความพิการอย่างรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น การทำ CPR จึงมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อห่วงโซ่การรอดชีวิตนี้
ห่วงโซ่การรอดชีวิต (Chain of Survival) คืออะไร?
ห่วงโซ่การอยู่รอด หรือ Chain of Survival คือ ลำดับหรือขั้นตอนสำคัญที่จำเป็นในการช่วยชีวิตผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งหากดำเนินการอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งในแต่ละส่วนของห่วงโซ่การรอดชีวิตนี้ จะเป็นหน้าที่ของผู้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่อยู่ในที่เกิดเหตุ จนกว่าจะถึงมือของเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยลำดับขั้นตอนของห่วงโซ่การอยู่รอด มีดังนี้
1. ทำความเข้าใจและสังเกตอาการผู้ป่วย
ขั้นตอนแรกในห่วงโซ่การอยู่รอด (Chain of Survival) คือ การทำความเข้าใจและสังเกตอาการของผู้ป่วย เช่น หมดสติกะทันหัน ไม่ตอบสนอง หายใจหอบหรือหายใจไม่ปกติ หรือไม่พบการเต้นของชีพจร จากนั้นรีบทำการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ให้บริการฉุกเฉินทันที และรีบทำขั้นตอนต่อไปของห่วงโซ่การรอดชีวิต
2. ทำ CPR ในระยะเริ่มต้น
การทำ CPR ให้เร็วที่สุดหลังจากหัวใจหยุดเต้น มีความสำคัญต่อการรักษาการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนที่ส่งไปยังสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ การทำ CPR แบบ Bystander คือการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการกดหน้าอกและเปิดทางเดินหายใจในระหว่างที่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือแพทย์มาถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งการทำ CPR นี้ อาจทำควบคู่ไปกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ AED ร่วมด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การให้ความสำคัญกับความรู้เรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น หรือคอร์สอบรมการใช้งาน AED พร้อมใบประกาศ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
3. การกระตุ้นหัวใจ
การกระตุ้นหัวใจหรือการช็อกด้วยไฟฟ้า ไปยังหัวใจเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามปกติ ในกรณีของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้น โดยทั่วไปการช็อกไฟฟ้าจะทำโดยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจภายนอกแบบอัตโนมัติ (AED) หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบแมนนวลโดยแพทย์ การกระตุ้นหัวใจถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ Chain of Survival ที่จะสามารถช่วยชีวิตเพิ่มโอกาสรอดได้มาก ในกรณีที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
4. การช่วยชีวิตโดยเจ้าหน้าที่
เมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบริการฉุกเฉินหรือแพทย์มาถึงที่เกิดเหตุ จะทำการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยวิธีการเฉพาะมากยิ่งขึ้น อาจมีการให้ยาทางเส้นเลือด หรือใช้เครื่องมือช่วยชีวิตที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นอย่างเช่น เครื่องปั๊มหัวใจ Auto CPR เพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจในขั้นสูง
5. การดูแลหลังภาวะหัวใจหยุดเต้น
หลังจากผู้ป่วยฟื้นตัวจากภาวะหัวใจหยุดเต้น สิ่งสำคัญคือต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นซ้ำอีก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว โดยจะมีการตรวจสอบความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และสัญญาณชีพอื่น ๆ ของผู้ป่วยเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ
6. การฟื้นตัว
การฟื้นฟูสมรรถภาพของหัวใจ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากเหตุการณ์ภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ โดยการให้ความรู้และคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมามีร่างกายที่แข็งแรง สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และภาวะหัวใจหยุดเต้นอาจเป็นประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจผู้ป่วยบางรายได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางด้านอารมณ์และจิตใจเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดังนั้น การทำ CPR ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในห่วงโซ่การอยู่รอด หรือ Chain of Survival จนกว่าความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือแพทย์จะมาถึงที่เกิดเหตุ การทำ CPR อย่างถูกต้องและทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นได้อย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งสถานที่เกิดเหตุมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตอย่างเช่นเครื่องกระตุ้นหัวใจ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นได้มากยิ่งขึ้น