ทำความรู้จักภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานอย่างกะทันหัน ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ให้หยุดชะงัก ทำให้ผู้ป่วยหมดสติและไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ หากไม่ได้รับการรักษาหรือช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้แตกต่างจากอาการหัวใจวายที่เกิดจากการอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หรือที่เรียกกันว่า กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่สำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดจากระบบไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหรือหยุดเต้น ซึ่งหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติจึงทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน
สาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในนักกีฬา
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในนักกีฬาเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเคยมีประวัติความผิดปกติของหัวใจก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าวได้ ต่อไปนี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยจะเน้นเป็นสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม หรือพฤติกรรมเฉพาะในระหว่างการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ดังนี้
1. ยาเพิ่มประสิทธิภาพ (Performance-enhancing Drugs : PEDs)
การใช้ PED เช่น Anabolic Steroids เป็นสารกระตุ้น หรืออาหารเสริมบางชนิด อาจส่งผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือดของนักกีฬา สารเหล่านี้อาจเพิ่มความดันโลหิต เปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ และนำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันตามมาได้
2. ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte Imbalances)
อิเล็กโทรไลต์ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียม มีบทบาทสำคัญในการรักษาการทำงานที่เหมาะสมของระบบไฟฟ้าหัวใจ การออกกำลังกายอย่างหนักและเหงื่อออกมากจนเกินไป อาจนำไปสู่ความไม่สมดุลของระดับ
อิเล็กโทรไลต์ ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
3. อากาศที่ร้อนจัด
ฮีตสโตรก (Heatstroke) คือ ภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตราย (มากกว่า 40 องศาเซลเซียส) เนื่องจากร่างกายอยู่ในอุณหภูมิที่สูงหรือมีความร้อนมากเกินไปเป็นเวลานาน ที่พบได้บ่อยคือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้เหงื่อออกมากและไม่สามารถระบายความร้อนได้เพียงพอ จึงส่งผลต่อความสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ตามข้อ 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เช่นกัน
4. การออกแรงอย่างหนัก
แม้ว่าการออกกำลังกายเป็นประจำจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด แต่การออกกำลังกายที่หนักหรือฝืนร่างกายจนเกินไป อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ดังนั้นควรตระหนักถึงข้อจำกัดและความสามารถของตนเองอยู่เสมอ
สัญญาณเตือนภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
หากเราทราบถึงสัญญาณเตือนเบื้องต้นของภาวะหัวใจหยุดเต้นในนักกีฬา ก็จะช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น
- เป็นลมหรือใกล้เป็นลมระหว่างออกกำลังกาย
- หายใจถี่โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
- มีอาการเจ็บหน้าอก
- มีอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
ความสำคัญของเครื่อง AED ในสถานที่เล่นกีฬา
สำหรับสถานที่เล่นกีฬา ฟิตเนส หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยเอง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนและให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำสถานที่นั้น ๆ เนื่องจากนักกีฬาหรือผู้ที่มาออกกำลังกาย อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ง่าย ซึ่งในปัจจุบันก็มีเครื่องกระตุกหัวใจหรือเครื่อง AED สามารถเข้าไปช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นใน 1 นาที จะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 90% แต่หากนำเข้าไปช่วยผู้ป่วยภายใน 5 นาที โอกาสรอดชีวิตจะอยู่ 50% ดังนั้น การเรียนรู้ทำความเข้าใจถึงวิธีใช้เครื่อง AED จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในนักกีฬา ทั้งตัวนักกีฬา โค้ช ผู้ฝึกสอน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรมีนโยบายที่เคร่งครัดในการคัดกรอง ตรวจสุขภาพของนักกีฬาที่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว เพราะนอกจากปัจจัยภายนอกที่เราได้อธิบายไปข้างต้นแล้ว ความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นอาจมาจากโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ เช่น HCM ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) เป็นต้น