ภาวะหัวใจหยุดเต้นเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่ไม่มีสัญญานเตือน ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสูงถึงกว่า 5 หมื่นคน บ่อยครั้งที่เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ที่สำคัญก็คือโรคนี้มักเกิดขึ้นระหว่างอยู่ในที่สาธารณะหรือขณะที่กำลังใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในห้างสรรพสินค้า เดินทางไปทำงาน หรือกำลังออกกำลังกาย ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือเครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือ AED ที่จะสามารถช่วยยื้อชีวิตในนาทีฉุกเฉิน เราจึงนำเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเครื่อง AED และจุดต่าง ๆ ที่ควรมีติดตั้งมาให้ทุกคนได้รู้กัน แค่รู้ไว้ ก็อาจช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้คนได้อีกมากมาย
การใช้เครื่อง AED อย่างถูกวิธี
สถานการณ์ใดบ้างที่ควรใช้
- สถานการณ์ที่พบผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถตอบสนองได้
- สถานการณ์ที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจกำเริบ มีอาการแน่นหน้าอกจนหมดสติ
- สถานการณ์ที่ผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อตจนหมดสติ
วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพบว่ามีผู้ป่วยเผชิญกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันดับแรกให้ดำเนินการโทรแจ้งหน่วยฉุกเฉิน 1669 โดยทันที จากนั้นจึงเข้าทำการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบความปลอดภัยในบริเวณโดยรอบก่อนเข้าช่วยเหลือ ตรวจเช็กให้แน่ใจว่าไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว และไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
- พยายามเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดัง หากพบว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะหมดสติ ไม่มีการตอบสนอง ให้จัดท่าผู้ป่วยให้นอนหงายราบ
- ทำการ CPR ผู้ป่วยตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ผู้ทำ CPR จะต้องนั่งคุกเข่าที่ด้านข้างตัวของผู้ป่วย
- วางสันมือหนึ่งข้างในบริเวณกระดูกหน้าอกส่วนล่าง
- วางสันมืออีกหนึ่งข้างประสานกัน เหยียดแขนตรง ให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย
- เริ่มกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ด้วยความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
- ที่สำคัญก็คือต้องทำการ CPR อย่างรวดเร็ว และทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หรือจนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวควรใช้ AED ให้เร็วที่สุด
ตำแหน่งที่ถูกต้องในการติดแผ่นนำไฟฟ้า
แผ่นหนึ่งติดที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และอีกแผ่นหนึ่งติดไว้ใต้ราวนมด้านซ้าย ให้อยู่ในบริเวณข้างลำตัว เมื่อติดแนบสนิทดีแล้วและแน่ใจว่าแผ่นนำไฟฟ้าเชื่อมต่ออยู่กับตัวเครื่อง จึงเริ่มทำการช่วยเหลือผู้ป่วยได้
ข้อควรระวังในการใช้
- ควรใช้เครื่องในขณะที่ตัวของผู้ป่วยแห้งสนิท ไม่เปียกน้ำ หากมีหยดน้ำหรือมีเหงื่อเกาะตามร่างกายของผู้ป่วยควรใช้ผ้าแห้งเช็ดจนแห้งสนิท
- ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าแผ่นนำไฟฟ้าติดแนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วย
- ยึดหลัก “4 นาที” ยิ่งทำ CPR เร็ว หรือใช้เครื่อง AED เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น
การติดตั้งเครื่อง AED
นอกจากเรื่องของการใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องแล้ว เรื่องของการติดตั้ง AED ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะการที่มีเครื่องอยู่ทุกที่ในจุดที่สำคัญ ก็จะยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยได้รับช่วยชีวิตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
- ควรติดตั้งในจุดที่คนพลุกพล่าน ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สถานที่แสดงคอนเสิร์ต รถไฟฟ้า
- ควรติดตั้งในอาคารสูง เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม
- ควรติดตั้งในจุดที่มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดเหตุการณ์หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เช่น สนามกีฬา
- บริเวณที่ติดตั้ง ควรเป็นจุดศูนย์กลางที่หน่วยกู้ภัยจะสามารถเข้าถึงได้โดยเร็ว
- ไม่ควรติดตั้งในมุมอับ ลับสายตา ยากแก่การเข้าถึง หรือเป็นพื้นที่ปิดล็อกแน่นหนา
- ควรติดตั้งในตำแหน่งสูงไม่เกิน 1.50 เมตร และควรมีสัญลักษณ์ที่สามารถเข้าใจได้ทันที หรือมีป้ายนำทางไปยังตำแหน่งที่วางเครื่อง
และที่สำคัญคือ ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อการช่วยเหลือที่ทันท่วงที รวมถึงหมั่นตรวจสอบเครื่องให้อยู่ในสถานะที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
มี AED เพียงเครื่องเดียว เพียงพอหรือไม่?
ในช่วงเวลานาทีแห่งชีวิต หากในสถานที่นั้นมี AED อยู่เพียงเครื่องเดียวและอยู่ห่างไกลจากจุดที่ผู้ป่วยหมดสติ การช่วยเหลืออาจไม่ทันเวลา ดังนั้นในทุกสถานที่ จึงควรจัดให้มี AED มากกว่าหนึ่งเครื่อง ติดตั้งไว้ในจุดที่สังเกตได้ง่าย โดยใช้หลักการคำนึงว่าจะต้องสามารถนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ภายในเวลา 4 นาที
หากต้องการสั่งซื้อเครื่อง AED คุณภาพสูง มีระบบการทำงานที่ทันสมัย ง่ายต่อการใช้งาน สามารถเลือกดูรายละเอียดได้ที่หน้าเว็บไซต์ของเรา หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-862-0254 , 02-862-0959 และทาง E-Mail: customersupport@alco-tec.co.th
ที่มา:
- การใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือ เออีดี. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/08172020-1445
- รู้วิธีช่วยชีวิตฉุกเฉิน กับเครื่อง AED เพราะทุกนาทีมีค่ายิ่ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จาก https://www.vejthani.com/th/2018/04/ช่วยชีวิตฉุกเฉิน-aed/